RSS

คุณรู้ไหม? ทำไมเพื่อนบ้านถึงชังเรา? ::มติชน

28 ส.ค.


เดินทางเข้าสู่สัปดาห์ที่ 5 แล้ว สำหรับการจัดอบรม “โครงการผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง (Leadership for Change) รุ่นที่ 3 ภายใต้แนวคิด “ปัญญาเพื่ออนาคต” จัดโดยบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) มูลนิธิสัมมาชีพ และสมาคมธรรมศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ชมรมผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง

ในสัปดาห์ที่ 5 นี้ ได้มีการจัดปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “การศึกษาไทยในยุค AEC” โดยมีผู้บรรยายท่านแรกคือ “ดร.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์” ผอ.สถาบันระหว่างประเทศการค้าและการพัฒนา และอดีตรัฐมนตรีท่องเที่ยวและกีฬา ที่บรรยายได้อย่างมีสีสันและสร้างความสนใจให้กับผู้เข้าร่วมอบรมได้เป็นอย่างดี

“ผมว่าจะเข้าสู่ยุคเออีซีหรือไม่ก็ตามสิ่งที่ประเทศไทยขาดอย่างมากคือ “กระบวนการเรียนรู้”เพราะกระบวนการเรียนรู้ทั้งในโรงเรียนหรือนอกโรงเรียน จะแก่หรือเด็กก็ต้องมีการเรียนรู้ทั้งสิ้น การจะเข้าไปสู่ประชาคมอาเซียนให้ได้ตามเป้าหมายที่เราอยากจะเห็น อาเซียนอยากจะเห็น และโลกก็อยากจะคบเราในรูปแบบนั้น เราต้องเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ และกระบวนการเรียนรู้ที่เปลี่ยนยากที่สุดในประเทศไทยคือ “การเรียนรู้ตัวเอง” เพราะถ้าเราเรียนรู้ตัวเองได้รู้เรื่องแล้ว เราก็จะเรียนรู้ผู้อื่นได้ดีขึ้น”

ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรเขาขอให้ผมไปพูดเรื่อง“ทำไมเพื่อนบ้านจึงชังเรา?” จะรักจะชังมันสำคัญตรงไหน มันสำคัญตรงที่ว่าพอ 2015 มาถึง เราเที่ยวประกาศไปทั่วว่า อาเซียนจะสามัคคี มีตัวตนเดียวกัน one identity หรือ one community

กลับมาสู่คำถามที่ว่า แล้วทำไมเพื่อนบ้านถึงชังเรา?

“เพราะเราเป็นผลผลิตของยุคชาตินิยมตอนนั้นเราจะต้องระมัดระวัง เรากลัวเหลือเกินว่าถ้าไม่เชื่อผู้นำ ชาติจะไม่พ้นภัย เราเชื่อเหลือเกินว่าถ้าเราไม่ทำให้สังคมหันมาดูและชื่นชมความเป็นตัวเราเอง แต่บังเอิญว่าตัวเราเองบางเรื่องก็จริงบ้างไม่จริงบ้าง”

ยกตัวอย่างกรณีคอนเสิร์ตลืมโลกของช่อง 7 กับคอนเสิร์ตกองทัพบกที่ช่อง 5 นั้น เกิดขึ้นมาด้วยนโยบายการเมือง เพราะรัฐหรือฝ่ายความมั่นคง เขาไม่ต้องการให้กรรมาชีพและนักวิชาการ นักศึกษา ไปคุยกันเรื่องการเมืองมากนัก จึงจัดให้มีการเอ็นเตอร์เทนเสีย

มาถึงวันนี้เราจึงมีโครงสร้างทางเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ที่ก้าวหน้ากว่าใคร เราสร้างหนังได้ดีกว่าใครในแถบนี้ หนังผีของเรานั้น ไม่ได้มีแต่คนไทยดูเท่านั้นแล้ว ทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน นิยมมาก เพราะประเทศแถบนั้นเวลาทำงานกลับมา เขาก็กลับบ้านดูหนังผี

เพราะฉะนั้นสินค้าส่งออกของเราในอนาคตคือหนังผี ส่วนละครตบๆ กัน คนจีนก็เอาไปดูบ้างแล้วเวลานี้ตามเทศกาลหนังของเขา เขาจะนิยมหนังไทย เพราะรู้สึกว่าเข้าจริตของเขาดี

จากการทำวิจัยในหอสมุดแห่งชาติเมื่อเร็วๆ นี้พบว่า หลักสูตรของเรา ทำให้เราคลั่งชาติ

“ยกตัวอย่างหนังสือสังคมศึกษาชั้น ป.4 ในอดีต เด็กยุคนั้นจะมีความทรงจำเกี่ยวกับลาวเพียงแค่นี้ แล้วก็เจ๊งไป แล้วก็เกลียดพม่า เกลียดเขมร ตั้งแต่ตอน ป.5 เป็นต้นไป กระทั่งบทที่ 11 กล่าวถึงบุคคลที่ควรนับถือ จึงกล่าวถึงลาวอีกครั้ง ในเรื่อง “ท้าวสุรนารี” แล้วก็ได้รู้ว่าเจ้าอนุวงศ์นี่แย่มากเลยนะ โดยบอกว่าเจ้าอนุเคยเจรจายุติศึกกับแม่ทัพไทย แต่เจ้าอนุหักหลัง ลอบแต่งทหารเข้ามาฆ่านายทหารในกองทัพโดยไม่รู้ตัว หรือที่บอกว่า อาณาจักรเวียงจันทร์จึงถูกกองทัพไทยทำลายจนล่มสลาย เจ้าอนุถูกคุมขังมาที่กรุงเทพฯ และถึงแก่พิราลัย แต่ทำบุญให้เขายังไง ก็ไม่บอกนะ แต่ประโยคนี้จะเป็นสิ่งที่จำกันได้แม่นเลย”

หรือกรณีที่กระทรวงต่างประเทศจะระมัดระวังตลอดเวลา อย่างเรื่องการห้ามไปเรียกเขาเป็น“บ้านพี่เมืองน้อง” กลัวว่าเขาจะหาว่าเราไปเรียกเขาเป็นน้องตลอดเวลา

วันหนึ่งอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของไทย ไปเจอกับรองนายกฯ ของลาว แล้วก็ไปถามตรงๆ ว่า ถามจริงๆ ว่าเป็นอะไร ติดใจอะไรนักหนากับคำว่า บ้านพี่เมืองน้อง ทางนั้นเขาตอบว่าไม่ได้ติดใจอะไรแบบนั้นเลย แต่เขาติดใจว่าทำไมคนไทยต้องติดใจเหลือเกินว่า “ใครจะต้องเป็นพี่ใครจะต้องเป็นน้อง”

อีกทีหนึ่ง กระทรวงการต่างประเทศของเราก็พานักข่าวพาดีเจไปต่างประเทศไปดูลาว ให้ไปเรียนรู้ว่าอะไรที่ควรจะพูดและไม่ควรพูด ก็ถือเป็นการศึกษาอย่างหนึ่ง นักข่าวไทยก็น่ารักก็เดินดูตาม ท่านรองนายฯ ลาว ซึ่งพูดภาษารัสเซียได้คล่อง และก็พูดไทยได้ด้วย ท่านก็พาชมไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงอนุสาวรีย์ของเจ้าอนุนั่นแหละ นักข่าวก็ถามว่า ทำไมท่านถึงผายมือมาทางเมืองไทยหล่ะคะ? ท่านก็ยิ้มตามสไตล์นักการทูตของท่าน แล้วท่านก็ตอบตามสไตล์ว่า อ่อ ท่านให้อภัย…

เรียนไปถึงชั้น ม.6 ลาวไม่ค่อยถูกกล่าวถึงอีก กระทั่งมาถึงแบบเรียนประวัติศาสตร์ ม.ปลาย เรื่อง “ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในสมัยรัตนโกสินทร์” เน้นสมัย ร.4-ร.5 ว่ามีการเสียดินแดนสยามบางส่วน เพราะฉะนั้นลาวก็ปรากฏออกมาในฐานะอดีตประเทศราช แล้วก็ถูกฝรั่งเศสยึดเอาไป พูดง่ายๆ เขียนมาทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้เราเจ็บใจฝรั่ง ไม่ได้ยกย่อง ไม่ได้เห็นตัวตนของลาว

มีบางช่วงของการทำแผนที่ของประเทศไทย เราทำแผนที่เป็นด้ามขวานทอง แล้วพื้นที่รอบๆ เป็นพื้นที่สีขาวๆ ไม่มีอะไร เราอยู่ของเราคนเดียว ไม่ได้อยู่กับใคร สภาพแบบนี้มันค่อยๆ กล่อมเกลาเรามา บางทีเราก็ไม่รู้สำนึกตัวตน ผมก็เป็นคนอุบลฯ ครับ อยู่ติดเขมร อยู่ติดลาว ก็นึกขึ้นมาได้ว่า เรานี่เรียนรู้โดยไม่เห็นเขามานานแล้วนะ

ในแบบเรียน ป.5 ภูมิศาสตร์เล่ม 2 เขียนว่า มีประเทศไทยเพียงประเทศเดียวที่ดำรงความเป็นเอกราชได้จนกระทั่งทุกวันนี้ นอกจากนี้ได้สูญเสียเอกราชไปแล้วทั้งสิ้น ส่วนใหญ่ในนี้ก็จะบอกว่าเพราะผู้นำของเขาไม่เก่ง พอบอกว่าผู้นำของเขาไม่เก่ง ก็พูดว่าคนของเขาไม่เก่งไปด้วย ในความรู้สึก เราจึงมีความรู้สึกว่าไม่ต้องไปคบหรอก คนไม่เก่ง

บทเรียน ป.3 วิชาสร้างเสริมลักษณะนิสัย หน้า 164 บอกว่า นับตั้งแต่ พ.ศ.2520 สถานการณ์ในอินโดจีนมีการสู้รบรุนแรงขึ้น ได้ทำให้ชาวญวน (เวียดนาม ลาว และเขมร) อพยพเข้ามาในจังหวัดชายแดนและจังหวัดชายทะเล

ของไทยอย่างมาก ไม่ต่ำกว่าแสนคน ทำให้เกิดปัญหาอย่างมาก

ถามว่าเป็นความจริงไหม ก็จริง แต่ความสัมพันธ์เรามีเฉพาะที่เป็นปัญหาหรอ? ไม่ใช่ จริงๆ เรามีความสัมพันธ์มากมาย ทั้งเป็นพี่น้องกัน เราต้องพึ่งพาอาศัยกันนะ

เมื่อมองว่าเขาเป็นปัญหา แค่จะขอวีซ่ายังยากเลย เพราะบุคคลในความมั่นคง ในสายการพิจารณา ยังคงติดเรื่องประเด็นเหล่านี้ เพราะโตมาจากหลักสูตรการสร้างชาติ

ถ้าท่านกลับไปดู พ.ร.บ.คนเข้าเมือง 2522 นั้น คณะกรรมการคนเข้าเมืองตามพระราชบัญญัติ มีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน มีอธิบดีตำรวจ อันนี้เข้าใจได้ แต่มีอธิบดีอัยการสูงสุด เลขาสภาความมั่นคง ปลัดต่างประเทศ

แปลว่า 5 คนนี้ ยังไงๆ ก็ไม่เปิดให้คนเข้ามาง่ายๆ หรอก เพราะถ้าเป็นปลัดต่างประเทศก็ต้องบอกว่าต้องต่างตอบแทน ที่เหลือเป็นบีโอไอ ผู้ว่าททท. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจนะ ไม่ใช่ราชการ เพราะฉะนั้นจึงไม่มีอำนาจอะไรมาก

กฎหมายการเข้าเมืองของเราเวลานี้จึงขยับอะไรช้ามาก

แล้วถ้าสังเกต วันนี้ถ้าบินไปที่มาเลเซีย ท่านไม่ต้องมากรอกใบ ตม.6 เพราะเขาไม่มีแล้ว เข้าก็เข้า ออกก็ออก เขาไม่ได้ยุ่ง เขาถือว่าสิ่งที่ปรากฏในคอมพิวเตอร์ เพียงพอแล้วที่เขาอยากจะรู้ แต่ของบ้านเราทุกครั้งท่านจะออกก็ต้องกรอก ขากลับก็ต้องกรอก ดูเหมือนเราจะเป็นคนเดียวในแถบนี้ที่ยังต้องกรอกอยู่ มิหนำซ้ำเรายังไม่มีงบประมาณในการพิมพ์ใบ ตม.6 นี้เลย

เราจึงถูกกล่อมเกลามาตลอดว่าเพื่อนบ้านของเรามีความสัมพันธ์กับเราแบบไม่ค่อยเปิดในทุกมิติขณะที่ประชาคมอาเซียนต้องการคบกันในหลายๆ มิติ แต่ว่าหลักสูตรประวัติศาสตร์และกระบวนการเรียนรู้ตัวเองของเรา ทำให้เราไม่รู้จักเขา แล้วก็ยกตัวเองขึ้นมา ตรงนี้เป็นสิ่งที่ต้องแก้ ถามว่าแก้ในหลักสูตรทันไหม ผมว่าต้องแก้ แม้ว่าช้า แต่ต้องทำ แม้ว่าจะมีหลักสูตรอาเซียนที่กำลังสร้าง แต่คนที่จะสร้างได้ก็คือผู้นำ

ผู้นำคือคนที่อยู่ในท้องถิ่น แล้วสามารถพูดจาอย่างนี้ ให้เอาท้องถิ่นเป็นที่ตั้ง แล้วบอกเขาว่าเราอยู่ตรงไหนของประเทศไทย และเราอยู่ตรงไหนของแผนที่อาเซียน แล้วเราควรจะคบกับเขา ให้เขารู้สึกไม่ชังเราได้อย่างไร เริ่มต้นอย่างนั้นก่อน ซึ่งเจ็บปวดนะ เวลาที่จะไปเริ่มอย่างนั้นจริงๆ เพราะในที่สุดแล้ว เอกสารและตำราต่างๆ ยังคงไม่ได้ปรับตามวิธีคิดนี้ แต่ถ้าเราค่อยๆ คุยกับเขา แบบผู้นำท้องถิ่นที่มีศิลปะ ท่านจะมีพลังอย่างยิ่งที่จะทำให้ประชาคมคนไทย ทั้งรุ่นถัดไปและรุ่น

ปัจจุบัน เพราะในเวลาการประชุมนานาชาติทีไร เวลานี้เรานั่งโดดเดี่ยวพอสมควร ไม่ค่อยมีใครอยากจะคุยอะไรกับเรานอกจากเรื่องน้ำท่วม

ในแบบเรียนปี 2524 ซึ่งปรับปรุงอีก ได้กล่าวว่า “สงครามเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ส่วนมากเป็นการยกทัพจากไทยไปปราบปราม เมื่อมีการแข็งอำนาจขึ้น มากกว่าเป็นการทำสงครามในฐานะประเทศที่มีกำลังทัดเทียมกัน อาทิ กรณี

ไทย-พม่า”

“นักเรียนจึงควรได้รู้จักประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์กับไทยอย่างใกล้ชิดโดยมีความร่วมมือกันในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ซึ่งได้แก่ ประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลลิปปินส์” จบ ไอ้ที่เหลือหายไป ไม่ได้

เป็นเพื่อนบ้านด้วย

หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานปี 44 เพิ่งเริ่มเปลี่ยนทัศนคติใหม่ต่อเพื่อนบ้าน เริ่มเล่าเรื่องไทย-ลาว มีทั้งแบบไมตรีกัน มีแบบขยายอิทธิพลร่วมกัน หรือเราไปครอบงำเขา

คำถามก็คือว่าทุกวันนี้เขามาดูงานหรือมาเรียนหนังสือเป็นจำนวนเท่าไหร่ แล้วเขาเคยเอาหลักสูตรกลับไปให้คนของเขาดูเท่าไหร่แล้ว ว่าเรามองเขาอย่างไร

ในสมัยสงครามเวียดนาม ภาคอีสานเป็นฐานทัพอเมริกันเก่า ผมอยู่แถวท้ายสนามบิน มักจะได้ยินเสียงเครื่องบิน เอฟ 105 ขึ้นจากสนามบินทุกเช้า เพื่อจะไปทิ้งระเบิดในลาวและเวียดนาม ขากลับถ้ายังเหลือระเบิดที่ทิ้งไม่ถูกเป้า

เขาก็ทิ้งกันก่อนข้ามโขงมา มีแค่คนที่อยู่ใกล้ๆ สนามบินถึงจะรู้ แต่ว่าคนในแผ่นดินลาวเขารู้กันหมดนะครับว่าเราทำอะไรกับเขาไว้บ้าง เรื่องแบบนี้มีคนของเรากี่คนที่เห็นว่าบนแผ่นดินลาวเขาสอนเรื่องเราไว้อย่างไร

การจะเข้าไปเป็นประชาคมส่วนหนึ่งกับเขา เรื่องการปรับปรุงเรื่องการศึกษาของเรา จึงไม่ใช่เรื่องแค่การแข่งขัน และการอยู่ร่วมกันในระบบโลกาภิวัฒน์ของโลก แต่ต้องอยู่ร่วมกับเพื่อนๆ ของเราที่อยู่ในภูมิภาค เพื่อนบ้านของเราจึงสำคัญที่สุด

อ.ประเวศ วะสี บอกว่า เราต้องเรียนรู้อยู่ร่วม ไม่ใช่แค่เรียนรู้อยู่รอด ที่ผ่านมาเราพูดถึงเรื่องเรียนรู้อยู่รอด ช่างมัน เราจะมีการ white lie โกหกสีขาวบ้าง เพื่อการรักษาบ้านเมืองเอาไว้ไง แต่วันนี้มันไม่ใช่แล้ว มันเป็น

เรื่องที่เราต้องเรียนรู้อยู่ร่วมกับเขา

การกลับไปเรียนรู้ว่าจะมี one identity หรือ one community นั้น สิ่งที่ยากที่สุดคือเรื่อง“เตรียมใจ” มากกว่าเรื่อง “เตรียมตัว” การเตรียมตัวต้องทำแหละครับ แต่ถ้าเตรียมใจไม่ดีพอ การเตรียมตัวจะเป็นไปเพื่อการแข่งขัน ไม่ใช่เพื่อการแบ่งปัน จะมองเขาอย่างมากก็เป็นแค่ผู้ค้า เพราะมองแค่ผลประโยชน์ มองเขาเป็นคู่แข่งด้วยความหมั่นไส้ แต่ไม่มองเขาเป็นคู่คิด

ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว กระบวนการเรียนรู้ไม่ว่าจะผ่านการศึกษานอกหรือในระบบตามอัธยาศัยใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะจัดโดยรัฐโดยเอกชนหรือท้องถิ่นก็หมดความหมาย ทำให้เราเป็นคนที่น่าชังต่อไปในสายตาของคนภูมิภาคนี้ต่อไป


ที่มา :: ก่อนเข้าสู่ AEC เคยถามตัวเองกันบ้างไหม ทำไมเพื่อนบ้านถึงชังเรา? (ชมคลิป) : มติชนออนไลน์

 

 
3 ความเห็น

Posted by บน สิงหาคม 28, 2012 นิ้ว News น่าสนใจ

 

ป้ายกำกับ: , , , ,

3 responses to “คุณรู้ไหม? ทำไมเพื่อนบ้านถึงชังเรา? ::มติชน

  1. ryelyshop

    สิงหาคม 29, 2012 at 8:02 pm

    ชอบประโยคนี้ที่สุดคะ ““การเรียนรู้ตัวเอง” เพราะถ้าเราเรียนรู้ตัวเองได้รู้เรื่องแล้ว เราก็จะเรียนรู้ผู้อื่นได้ดีขึ้น” ” ใช้ได้ดีกับทุกสถาณะการณ์

     
  2. Marnoet Aunjairam

    สิงหาคม 31, 2012 at 4:53 pm

    ชอบอันนี้
    จากการทำวิจัยในหอสมุดแห่งชาติเมื่อเร็วๆ นี้พบว่า หลักสูตรของเรา ทำให้เราคลั่งชาติ

    “ยกตัวอย่างหนังสือสังคมศึกษาชั้น ป.4 ในอดีต เด็กยุคนั้นจะมีความทรงจำเกี่ยวกับลาวเพียงแค่นี้ แล้วก็เจ๊งไป แล้วก็เกลียดพม่า เกลียดเขมร ตั้งแต่ตอน ป.5 เป็นต้นไป กระทั่งบทที่ 11 กล่าวถึงบุคคลที่ควรนับถือ จึงกล่าวถึงลาวอีกครั้ง ในเรื่อง “ท้าวสุรนารี” แล้วก็ได้รู้ว่าเจ้าอนุวงศ์นี่แย่มากเลยนะ โดยบอกว่าเจ้าอนุเคยเจรจายุติศึกกับแม่ทัพไทย แต่เจ้าอนุหักหลัง ลอบแต่งทหารเข้ามาฆ่านายทหารในกองทัพโดยไม่รู้ตัว หรือที่บอกว่า อาณาจักรเวียงจันทร์จึงถูกกองทัพไทยทำลายจนล่มสลาย เจ้าอนุถูกคุมขังมาที่กรุงเทพฯ และถึงแก่พิราลัย แต่ทำบุญให้เขายังไง ก็ไม่บอกนะ แต่ประโยคนี้จะเป็นสิ่งที่จำกันได้แม่นเลย”

     
  3. akerealty

    กันยายน 5, 2012 at 7:30 pm

    ต้องเปลี่ยนแปลงหลักสูตร
    ผมเองก็รู้สึกว่าตอนวัยรุ่น ก็ดูถูกประเทศเพื่อนบ้าน
    ตอนนี้กลับรู้สึกว่า พวกเค้านี่แหละที่ควรคบค้าสมาคม เพราะเราใกล้กัน ควรจะเกาะกันใว้
    AEC ที่จะถึงรู้สึกว่าไทยโชคดีจริงๆ ที่มีภูมิประเทศอยู่ศูนย์กลาง ไม่งั้นนี่คงแย่

     

ใส่ความเห็น